วันอาทิตย์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2554

"มือถือ-อีคอมเมิร์ซ" เป้าหมายเฟซบุ๊คปี 54



ปี 2553 ถือเป็นช่วงเวลามหัศจรรย์ของเฟซบุ๊ค เครือข่ายสังคมออนไลน์ยอดฮิต ที่ได้รับการกล่าวถึงตามสื่อต่างๆ ตลอดทั้งปี
และ ไม่ควรสบประมาทว่าตัวบริษัทหรือผู้ก่อตั้งอย่าง มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก มีดีแค่การทำเว็บไซต์ให้ติดตลาด เพราะดวงรุ่งของเฟซบุ๊คเพิ่งอยู่ในขั้นเริ่มต้นเท่านั้น หลังจากทำรายได้ประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์ ในปีที่ผ่านมา

เมื่อเร็วๆ นี้ ไมเคิล บราวน์ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาองค์กรของเฟซบุ๊ค บอกเป็นนัยถึงแผนการปี 2554 ว่า จะรุกด้านอีคอมเมิร์ซมากขึ้น ขยายการใช้งานบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ และเพิ่มความสามารถมากขึ้น

นิตย สารฟอร์บส์รายงานเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า เฟซบุ๊ค พัฒนาสกุลเงินที่ใช้ชื่อว่า "เฟซบุ๊ค เครดิต" มาตั้งแต่ปี 2552 และประสบความสำเร็จในการใช้งานร่วมกับ ซิงกา ผู้ผลิตเกมยอดนิยม อย่าง ฟาร์มวิลล์ และหาก "เฟซบุ๊ค มาร์เก็ตเพลส" เผยโฉมออกมาก็ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ เนื่องจากบริษัทเล็งเห็นโอกาสในการนำเงินใส่เข้าไปใน เฟซบุ๊ค เครดิต

นอก จากนี้ ผู้ใช้ยังจะได้เห็น "เฟซบุ๊ค ดีลส์" สำหรับจัดการข้อตกลงต่างๆ รวมทั้งเครื่องมืออื่นๆ ที่จะกระตุ้นการใช้จ่ายมากขึ้น แม้ยังไม่เป็นที่เปิดเผยว่าเฟซบุ๊คจะตั้งร้านจำหน่ายแอพพลิเคชั่นเอง หรืออาศัยบุคคลที่สามเข้ามาจัดการ แต่ไม่ใช่เรื่องแปลกหากจะเกิดศูนย์ชอปปิงผลิตภัณฑ์เฟซบุ๊คในอนาคต

ไม่ ว่าความเคลื่อนไหวต่อไปของเฟซบุ๊คจะเป็นอย่างไร ก็คาดได้ว่าน่าจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดย บราวน์ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาองค์กรของเฟซบุ๊ค กล่าวในงานสัมมนาที่ซานฟรานซิสโกเมื่อต้นเดือน ธ.ค. ว่า บริษัทกำลังมองหาแฮคเกอร์ทั้งหญิงและชายที่สามารถทำงานอยู่ได้ตลอดคืน และสามารถแปลงไอเดียออกมาเป็นโปรแกรมต้นแบบหน้าตาน่าเกลียด แต่เรียกความสนใจจากระบบสืบค้นข้อมูลของกูเกิลได้ และทดสอบดูว่าผู้คนจะมีความเห็นอย่างไร

"เรากำลังมองหาคนที่ใจร้อน ชอบเขียนโค้ด ต้องการผลิตผลงานจำนวนมากอย่างรวดเร็ว และคิดว่าสังคมกำลังจะเปลี่ยนแปลงโลก ดังนั้น แฮคเกอร์ทั้งหลายจึงเป็นที่ต้องการตัว" บราวน์กล่าว

ที่สำคัญยิ่งไป กว่านั้น ความสนใจของเฟซบุ๊คพุ่งเป้าไปที่การขยายแพลตฟอร์มบนอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อน ที่ โดยมีการจ้างงานใหม่เพิ่มขึ้น สำหรับผู้ที่พร้อมจะร่วมสร้างสรรค์และบริหารจัดการทีมงานคุณภาพสูง พัฒนาและยกระดับหุ้นส่วนที่ประสบความสำเร็จ และสร้างอิทธิพลต่อหุ้นส่วนภายในและภายนอก ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ว่า บริษัทเล็งเห็นปัญหาของการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ และรอที่จะเข้าไปจัดการ

ข่าวลือเกี่ยวกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ของเฟซ บุ๊ค ก่อกระแสตั้งแต่เมื่อเดือน ก.ย. แม้บริษัทออกมาสยบข่าวดังกล่าว แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงที่โลกจะได้เห็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ของเฟซบุ๊คใน อนาคตอันใกล้ เพราะการที่เว็บไซต์แห่งนี้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญของการท่องอินเทอร์เน็ต ในแต่ละวัน ก็ทำให้มีเหตุผลสมควรที่บริษัทจะผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่อัจฉริยะออกมารองรับ ซอฟต์แวร์ของตัวเอง เหมือนที่กูเกิลมีแพลตฟอร์มแอนดรอยด์ ซึ่งการใช้อินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ของเฟซบุ๊ค จะช่วยให้บริษัทนำเสนอบริการต่างๆ แก่ผู้ใช้ได้โดยตรง

ขณะที่แผน การเกี่ยวกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ และการค้าขายผ่านเว็บไซต์ไม่ใช่เรื่องลับของเฟซบุ๊ค แต่มีอยู่เรื่องหนึ่งที่บริษัทอุบเงียบ นั่นคือ การทำธุรกิจกับจีน

มา ร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหาร เฟซบุ๊ค เดินทางไปพักผ่อนในจีนเมื่อเร็วๆ นี้ และได้พบกับผู้บริหารของ ไป่ตู้ เว็บไซต์สืบค้นข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตอันดับหนึ่งของจีน ซินา เจ้าของบริการไมโครบล็อก เว่ยโป และอาลีบาบา เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่

รัฐบาล จีนขวางการเข้าถึงเฟซบุ๊คจากในประเทศมานาน ดังนั้น ประชากร 1,300 ล้านคนของจีน จึงเป็นตลาดที่ยังไม่ถูกเจาะเข้าไป หากเข้าถึงตลาดจีนได้ ซักเคอร์เบิร์ก จะได้ประโยชน์มหาศาล แต่อาจต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงแบบเดียวกับที่ กูเกิล ประสบอยู่

การ เข้าถึงตลาดจีน จะช่วยให้เฟซบุ๊ครักษาบัลลังก์เจ้าแห่งอินเทอร์เน็ตเอาไว้ได้ อีกทั้งยังหมายถึงโอกาสในการสร้างรายได้นับพันล้านดอลลาร์ ในขณะที่ เหรินเหริน เจ้าของฉายา "เฟซบุ๊คเมืองจีน" วางแผนเปิดตัวในสหรัฐเร็วๆ นี้

อย่าง ไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลายรายมองว่า การเดินทางของซักเคอร์เบิร์กครั้งนี้คงไม่มีผลลัพธ์สำคัญเกิดขึ้น โดย แมตต์ มาร์แชล แห่งเว็บไซต์ข่าวสาร เวนเจอร์บีท กล่าวว่า เฟซบุ๊ค ถือเป็นประเด็นอ่อนไหวสำหรับเจ้าหน้าที่จีน เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นช่องทางที่นักเคลื่อนไหวทางการเมืองใช้ต่อต้านรัฐบาล ดังนั้น จึงมีความหวังน้อยมากที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในเร็วๆ นี้

คริ ส โอเบรียน คอลัมนิสต์แห่งเว็บไซต์ข่าวสาร เมอร์คิวรี นิวส์ ทำนายว่า เฟซบุ๊คจะมีจำนวนผู้ใช้ทะลุหลัก 1,000 ล้านคนในอนาคตอันใกล้ หากวัดจากสถิติ 550 ล้านคนเมื่อเดือน พ.ย. และเพิ่มขึ้นวันละ 700,000 คน จำนวนผู้ใช้จะมากกว่า 800 ล้านคนในปี 2554 แต่จำนวนผู้ใช้จริงอาจเพิ่มขึ้นในอัตรารวดเร็วปัจจุบัน โดยเฉพาะหากจีนยอมให้เฟซบุ๊คเข้าไปให้บริการ

ที่มา http://www.bangkokbiznews.com/



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น